วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2558

ทคนิคบรรเทาอาการเมาค้างเนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์

โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


ผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีแอลกอฮอล์ผสม (เช่น ในรูปแบบน้ำผลไม้ที่วางขายกันเต็มท้องตลาด ห้างสรรพสิ้น ร้านสะดวกซื้อ) ทั้งหลายนั้น นอกจากปัญหาทางด้านร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งก็คือ ผลต่อตับ ต่อหัวใจ อันตรายที่หลายคนอาจจะไม่นึกถึงก็คือผลต่อโรคทางจิตประสาท ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างมากมายมหาศาลได้เช่นกัน 
นอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว ปัญหาที่มักจะเกิดกับผู้ดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวที่ถือว่ายังไม่เข้าขั้นรุนแรงก็คือการ เมาค้าง บทความที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ประสบปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้สามารถบรรเทาจากการเมาค้างได้ก่อนที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อการบำบัดรักษา



เทคนิคการบรรเทาอาการเมาค้าง
ก่อนที่จะแก้ไขอาการเมาค้าง เรามาติดตามกระบวนการแผลงฤทธิ์เดชของแอลกอฮอล์ในร่างกายไว้เป็นความรู้กันก่อน ซึ่งแบ่งเป็นปฏิกิริยาได้ดังนี้
ปฏิกิริยาแรก
จะเกิดขึ้นทันทีที่ดื่มเหล้าแล้วแอลกอฮอล์เข้าสู่ตับเอนไซม์ในตัวคนเราจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นสารตัวใหม่ ชื่ออะเซ็ตทัลดีไฮด์ แล้วเปลี่ยนต่อเป็น อะซิเทต แล้วเคลื่อนตัวไปยังสมองของต่อมควบคุมระดับเกลือและน้ำตาลในร่างกาย รวมไปถึงอวัยวะต่างๆ อีกมากมายหลายส่วน ผลจากการเคลื่อนตัวไปยังส่วนต่างๆ นี่เองทำให้ร่างกายสำแดงอาการเริ่มตั้งแต่อาการสมองโปร่งโล่งสบายในระยะแรก แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความรู้สึกกับถูกบีบหนักๆ ร่างกายเริ่มผิดเพี้ยน เคลื่อนไหวโซซัดโซเซ ลิ้นก็ชักจะแข็งๆ พูดจาอ้อแอ้ หูอื้อ ตาลายและแดงกล่ำไปด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ บางคนถึงขนาดความจำเสื่อมไปชั่วขณะ ถ้าดื่มต่อไปอย่างยั้งไม่หยุดก็จะตามมาติดๆ ด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน และเกิดปฏิกิริยาผิดเพี้ยนอื่นๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน
ปฏิกิริยาต่อมา
เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากปฏิกิริยาแรก ส่งผลให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ปกติเซลล์สมองจะมีกลไกป้องกันตัวเอง โดยการเปลี่ยนแปลงผนังเซลล์ให้หนามากพอ ที่จะไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำลาย ดังนั้นเมื่อแอลกอฮอล์เดินทางมาสู่สมองเซลล์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนเกิดผลของการแฮ้งก์โอเวอร์หรืออาการเมาค้างตามมาในที่สุด
ปฏิกิริยาสุดท้าย
เป็นกระบวนการแห้งเหือดของน้ำหรือของเหลวภายในร่างกายเพราะแอลกอฮอล์เป็นสารที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยของเหลวในร่างกาย โดยดูดซึมและขับถ่ายในรูปปัสสาวะและยังขับสารอาหารสำคัญๆ ออกมาอีกด้วย ในร่างกายเหล่านี้หลงเหลืออยู่ในปริมาณต่ำสุด เช่น แมกนีเซียม โปตัสเซียม รวมไปถึงวิตามินต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินซี เป็นต้น
ด้วยปฏิกิริยาดังกล่าว จึงมักพบอาการที่มักได้ยินผู้ดื่มพูดๆ กัน ว่าในหัวจะเหมือนมีใครอาค้อนมากระหน่ำ ปวดหนึบๆ บางคนปวดจี๊ดๆ ต่อเนื่องหรือบางคนปวดตลอดเป็นระยะยาวๆ แล้วยิ่งถ้าขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย แม้แต่เพียงน้อยนิด ก็จะยิ่งปวดหัวหนักเข้าไปอีก ท้องไส้จะเบาโหวง คลื่นเหียนเหมือนเพิ่งลงจากรถไฟเหาะตีลังกามาสักสิบรอบ นอกจากนี้เจ้าตัวยังพบกับความยากลำบากในการลืมตา โดยเฉพาะถ้ามีลำแสงสาดส่องเข้ามากระทบดวงตาอันฉ่ำไปด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์แล้วละก็จะยิ่งทวีความปวดร้าวในหัวเหมือนหัวจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ อย่างไงอย่างงั้น แถมอาการเมาค้างยังทำให้ระบบประสาทสัมผัสปั่นป่วนตามไปด้วย กล่าวคือเสียงที่เคยกระทบโสตประสาทว่าไพเราะนักหนากลับกลายเป็นเสียงที่น่ารำคาญไปเสียนี่ จะกินจะลิ้มชิมของอร่อยสักเพียงใดก็เหมือนลิ้นคนกลายเป็นจระเข้ คือ ไม่รู้รสอะไรเลย แล้วริมฝีปากก็จะแห้ง เหมือนอยู่ท่ามกลางทะเลทรายในบ้าน อาการเพี้ยนๆ ที่เกิดขึ้นอีกก็คือ สภาพความปั่นป่วนในหัวอก หัวใจเต้นไม่เป็นส่ำตามมาด้วยการเสียสมรรถภาพในการเคลื่อนไหวจะลุกจะนั่ง จะเดิน ก็แข็งทื่อ ไม่รวดเร็วคล่องแคล่วเหมือนใจนึก แถมท้ายด้วยการอาเจียนขนานใหญ่ ตามมาติดๆ ด้วยอาการผะอืดผะอม คืออาเจียนก็ไม่อาเจียน แล้วก็เป็นอยู่อย่างนี้นานทั้งวัน จะว่าไปแล้วอาการเมาค้างที่เกิดขึ้นนี้ช่างเป็นอาการที่ยืดความทรมานออกไปไม่จบสินสักที
ข้อมูลทั่วไป
อาการเมาค้าง เป็นภาวะหรืออาการที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ การที่ร่างกายขาดน้ำ เป็นผลที่เกิดหลังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินร่างกายจะสามารถรับได้ ส่งผลให้เสียสมดุลของฮอร์โมน เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท และสารทางชีวภาพอื่นๆ ในร่างกาย
อาการเมาค้างโดยทั่วไป ได้แก่ ปวดหัว มึนหัว เวียนศีรษะ คอแห้ง ผิวหน้าแห้ง ริมฝีปากแห้ง หน้าบวม ตาบวมผื่นแดง รอยแดง หน้าซีดเซียว คลื่นเหียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ หรือท้องร่วง ถ่ายเหลว รับประทานอาหารไม่ได้ เบื่ออาหาร นอนไม่ได้ สะลึมสะลือ กระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง มือสั่น ใจสั่น เหนื่อย เหงื่อออก หรืออ่อนเพลีย หมดแรงลุกไม่ขึ้น ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็ง (ตะคริว) ความดันโลหิตลดลง และรู้สึกไม่สบาย สะดุ้ง ตกใจง่าย
นอกเหนือจากอาการที่มองเห็นทางร่างกายแล้ว
อาการเมาค้างยังมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น คนที่เป็นโรคหัวใจจึงมีอัตราการเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการเมาค้างง่ายกว่าคนปกติด้วย เป็นการเพิ่มการทำงานของหัวใจ ปรากฏการณ์นี้มีผลต่อการตายจากโรคหัวใจ อาการเมาค้างยังส่งผลเสียต่อประสาท โดยทำให้การแพร่ของคลื่นสมองช้ากว่าปกติเป็นเวลาหลายชั่วโมง หลังจากร่างกายขจัดแอลกอฮอล์ออกไปแล้ว และการทำงานของกล้ามเนื้อร่วมประสาทบกพร่องเป็นเวลานาน แม้ว่าจะไม่ปรากฏแอลกอฮอล์ในเลือดแล้วก็ตาม อาการเมาค้างยังทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และขาดสารอาหาร
อาการเมาค้างยังเกิดจากหลายปัจจัย และอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มแต่เพียงอย่างเดียวปัจจัยเสริมอื่นๆ อยู่อีก คือ กระเพาะอาหารว่างก่อนดื่ม อดนอนมาก่อนหรือนอนหลับไม่เพียงพอ มีความเครียดเป็นทุนเดิม ปัจจัยทางด้านสังคมจิตวิทยา การเพิ่มการการเคลื่อนไหวร่างกายขณะดื่ม หรืออยู่ในภาวะขาดน้ำ เป็นต้น และยังขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มในช่วงเวลาหนึ่งๆ ต่อน้ำหนักของคนดื่ม พูดง่ายๆ ว่าน้ำหนักน้อย มีสิทธิ์ไปไว สุดท้ายเป็นเรื่องอายุ ยิ่งแก่ยิ่งเมาค้างได้ง่าย
วิธีบำบัดฟื้นฟูสภาพ และเทคนิควิธีการดูแลบรรเทาอาการเมาค้างเบื้องต้น
• เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็นและประคบด้วยผ้าเย็นบริเวณใบหน้าและศีรษะ
• ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ทั้งวัน เพื่อให้ความเป็นพิษหมดไปโดยเร็ว
• ดื่มน้ำหวาน เช่น น้ำส้ม (น้ำอัดลม) เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำหวานต่างๆ เพื่อชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไป และช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย ทำให้ร่างกายสดชื่น
• ดื่มน้ำผลไม้คั้นที่มีรสเปรี้ยวจัด แก้ไขการอาเจียน เช่น น้ำส้ม หรือน้ำมะนาว
• ดื่มน้ำผลไม้สดๆ หรือผลไม้สดแช่เย็นฉ่ำ ช่วยล้างพาและแก้อาการ เพื่อชดเชยวิตามินซี เพิ่มปริมาณออกซิเจนในเลือด ชดเชยพลังงานที่ร่างกายต้องการ อันจะทำให้ร่างกายสดชื่น (ควรใช้เครื่องคั้นน้ำผลไม้แยกกากยกเว้นบางชนิดที่ควรใช้เครื่องปั่น)



น้ำแตงโมแช่เย็นเจี๊ยบ
นอกจากนี้อาจผสมสตรอเบอรี่ด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นผลไม้หนึ่งเข้ากันได้ดีกับแตงโม เพราะให้รสชาติหลากหลาย อาจสลับใช้ฮันนี่ดิวผสมแบล็คเบอรี่ บ้างก็ได้ ใช้แตงโมขนาด 1 นิ้ว 1 ชิ้น สตรอเบอรี่เด็ดก้านออกแล้ว 6 ผล ถ้าให้ชื่นใจยิ่งขึ้น ควรแช่เย็นผลไม้ก่อนนำมาคั้น
น้ำแครอทผสมแอปเปิ้ล
ดูจะเป็นน้ำผักผลไม้หลักๆ ที่ดีที่สุด และเหมาะจะเป็นเครื่องดื่มแก้วแรก สำหรับผู้ที่เริ่มทดลอง เริ่มด้วยการผสมน้ำคั้นทั้งสองอย่างนี้ในปริมาณเท่าๆ กัน และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสัดส่วนตามที่คุณชอบ ใช้แครอท 4 หัว แอปเปิ้ล 1 ลุก
น้ำจับฉ่าย
น้ำผักผลไม้ชนิดนี้จะมีรสดียิ่งขึ้นถ้าเหยาะซอสพริก 2-3 หยด หรือเพิ่มกระเทียมสักกลีบ หรือพริกสดก็จะได้รสชาติแปลกออกไป
ใช้มะเขือเทศสุก 2 ลูก แครอท 2 ลูก บีทรูท ½ หัว เชเลอรี่ 1 ต้น แตงกวา 1 ลูก
น้ำวุ้นจากใบว่านหางจระเข้
น้ำสมุนไพรนี้ช่วยให้ตับสามารถทำงานได้เป็นปกติเร็วขึ้น ช่วยสลายพิษได้


• สูดกลิ่นหอม โดยใช้นำมันหอมระเหย ด้วยวิธีดังนี้


สูดกลิ่นจากเตาระเหย (มิลลิลิตร) เฟนเนล 2 หยด, ลาเวนเดอร์ 1 หยด, น้ำมันจันทน์ 2 หยด, เลมอน 4 หยด
นวดตัว (ผสมน้ำมันนวด 50 หรือแช่ในอ่างอาบน้ำ) เฟนเนล 5 หยด, ลาเวนเดอร์ 3 หยด, น้ำมันจันทน์ 5 หยด, เลมอน 10 หยด
ประคบน้ำร้อน หรือประคบน้ำเย็น เฟนเนล 1 หยด, จูนิเปอร์ 2 หยด, โรสแมรี่ 1 หยด

• ดื่มนมอุ่นๆ ทีเดียวให้หมดแก้ว แต่ไม่ควรดื่มมากอาจจะอาเจียนหนักขึ้นได้
• ค่อยจิบเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น น้ำชา ชามะนาว ส่วนกาแฟอย่าดื่ม ขณะเมาค้าง เนื่องมาจากกาแฟมีคาเฟอีน เมื่อดื่มเข้าไปจะทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น
• อย่าปล่อยให้ท้องว่าง พยายามรับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว ไม่ควรกินอาหารที่มีไขมัน หรือมีรสจัดมากเกินไป เพราะจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการอาเจียนมากขึ้น
• ไม่ควรนอนจมอยู่บนเตียงทั้งวัน ควรจะลุกขึ้นมา สูดอากาศบริสุทธิ์ เพราะออกซิเจนจะช่วยให้เกิดกระบวนการเมตะบอลิซึมมากขึ้น ทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงจนรู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า มากขึ้น
• ถ้าไม่ดีขึ้น แน่นอนต้องพึ่งพายาหอมผสมน้ำอุ่น ยาดม หรือยาธาตุ และยาสมุนไพรขมิ้นชัน ซึ่งจะทำให้ระบบย่อยอาหารมีสภาพเป้นกลาง หรือเป็นปกติมีความสมดุลขึ้น
• ควรนอนหลับ นอนพักผ่อนให้ได้อีกสักระยะหนึ่ง ก่อนไปทำงานประเภทขับรถหรือทำงานเครื่องจักรกล
• หากปวดศีรษะมาก รับประทานยาบรรเทาอาการ คือ แอสไพริน ควรกินยานี้ตอนเช้า ห้ากินก่อนเข้านอน หรือเวลาที่แอลกอฮอล์ยังสะสมอยู่ในร่างกายมาก หรือ หากคลื่นไส้อาเจียนก็ต้องใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนและข้อควรระวังคือ ไม่ควรรับประทานพาราเซมอล เพราะทั้งแอลกอฮอล์และพาราเซตามอลมีอันตรายต่อตับ
ข้อควรระวัง หรือลักษณะอาการที่ควรพบแพทย์
หากมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนมาก ใจสั่น เหงื่อออก ตัวเย็น ความดันโลหิตลดลง ห้องร่วงรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และอ่อนเพลีย เมาค้างเป็นนานกว่า 1 วัน ให้รีบไปพบแพทย์
วิธีป้องกันอาการ “เมาค้าง”
ก่อนดื่ม
• ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง เพราะอาหารในกระเพาะ จะช่วยป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์ ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป เตรียมตัวให้พร้อมด้วยการกินอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม หมูทอด เค้ก ขนมหวาน เนย หรืออื่นๆ จะได้ช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร ไม่ให้แอลกอฮอล์ซึมผ่านสู่อวัยวะต่างๆ ได้เร็วนักแล้วก็จงตบท้ายด้วยอาหารประเภทโปรตีน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อปลา ไก่ ไข่ นม ถั่ว เป็นต้น
• ควรรับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSIDS หรือไอบูโพรเฟนก่อนเมแอลกอฮอล์ เพราะยาจะมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์prostaglandin ที่ทำให้เกิดอาการปวด แต่ไม่ควรรับประทานพาราเซตามอลโดยไม่จำเป็นขณะดื่ม หรือก่อนนอนหลังจากดื่ม เพราะทั้งแอลกอฮอล์และพาราเซตามอลมีอันตรายต่อตับ เมื่อรับประทานพร้อมกันจะอันตรายมากขึ้น
• ปัจจุบันนี้มีเครื่องดื่มป้องกันอาการเมาค้างที่ดื่มก่อนไปดื่มแอลกอฮอล์ด้วยก็พอจะช่วยได้ มักขายตามร้านสะดวกซื้อ
ระหว่างขณะดื่ม
• ควรทานอาหาร/กับแกล้มของขบเคี้ยวสลับกับการดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยชะลอการเมาได้มาก แต่ก็ควรดื่มให้น้อยด้วย
• เลี่ยงอาหารประเภทไขมัน ขณะดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้อาเจียนได้ง่าย
• หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มชนิดที่ผสมเข้าด้วยกัน
• เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มน้ำตามด้วย เพื่อจะได้จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์เข้าสู่เส้นเลือด และป้องกันอาการร่างกายขาดน้ำ
• การป้องกันในระหว่างดื่ม ถ้ามีโอกาสได้ถือเหล้าติดมือไปฝากในวงเหล้า ถือว่าท่านเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ในการดื่มได้ ดังนั้นควรเลือกเหล้าชนิดที่มีดีกรีอ่อนหน่อย จะได้ช่วยให้กระบวนการเมตาบอลิซึมทำงานเผาผลาญแอลกอฮอล์ได้ดี แล้วยิ่งถ้าได้ดื่มเหล้าที่แช่เย็นเจี๊ยบแบบที่เพิ่งออกมาจากช่องฟรีซในตู้เย็นได้ นอกจากจะทำให้ดื่มได้ไม่บาดคอแล้วยังช่วยให้ดื่มได้นานโดยไม่เมาเร็วเกินไปด้วย
หลังดื่ม
• ก่อนกลับบ้านถ้าเมาต้องไม่ขับรถ ควรจะดื่มน้ำส้ม เพราะวิตามินซีจะช่วยเร่งการเผาผลาญอาหาร หรือจะดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ที่พวกนักกีฬาดื่มกันก็ไม่เลว
• ควรดื่มน้ำมากๆ ก่อนเข้านอนด้วย เพื่อช่วยให้การขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย และลดการกระตุ้นให้ร่างกายดึงน้ำจากสมองมาใช้มีผลให้สมองเกิดการหดตัว
• ควรดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำผสมน้ำตาลเกลือแร่ก่อนเข้านอน เนื่องจากแอลกอฮอล์เข้าไปแทนที่น้ำตาลในตับระดับน้ำตาลในร่างกายจึงลดลง ทำให้คุณเกิดอาการเวียนศีรษะและอ่อนเพลีย
คำแนะนำทั่วไป
• หลีกเลี่ยงการผสมเครื่องดื่มต่างชนิดเข้าด้วยกัน
• หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ในขณะท้องว่าง อาหารในกระเพาะจะช่วยป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตเร็วเกินไป การกินอาหารยิ่งมากระหว่างดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งลดผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อระบบร่างกาย
• ควรดื่มน้ำมากๆ ก่อนนอน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
• ไม่ควรดื่มกาแฟเพื่อบรรเทาอาการเมาค้าง เพราะกาแฟมีฤทธิ์ขับปัสสาวะจะยิ่งทำให้การเสียดุลของของเหลวในร่างกายแย่ลง
• อย่าขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล เมื่อมีอาการเมาค้าง
• รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีคุณค่าทางโภชนาการและหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน
• เดี๋ยวนี้ก็มีเครื่องดื่มบรรเทาอาการเมาค้างที่ดื่มหลังจากไปดื่มแอลกอฮอล์มาก ซึ่งก็พอจะช่วยได้มักขายตามร้านสะดวกซื้อ
สูตรลับดับอาการเมาค้าง
มีการบอกเล่าสืบต่อกันมาช้านานแล้ว ซึ่งเป็นสูตรที่ชาวต่างประเทศเชื่อกันว่าน่าจะได้ผลดี จะขอยกตัวอย่างสูตรเหล่านั้นพอเป็นสังเขป ดังนี้
• สูตรดื่มน้ำส้มเย็นเชี้ยบที่แช่ค้างคืน โดยผสมกับไข่ดิบเข้าด้วยกัน
• สูตรจิบน้ำมันดอกคำฝอยผสมน้ำมันงา
• สูตรจิบน้ำมันขิง ผสมโซดา น้ำ น้ำมะนาวหรือน้ำส้ม
• สูตรกินแอสไพริน 2 เม็ด ในตอนเช้าและดื่มน้ำตามมากๆ 
• สูตรกินปลาทูน่าที่ผสมน้ำมะนาว มะเขือเทศ กระเทียม พริก แตงกวา
• สูตรกินซุปไก่ผสมหอมใหญ่ แครอต แป้งข้าวโพด เกลือ กระเทียม
• สูตรกินน้ำกะหล่ำปลีดอง ผสมน้ำมันมะกอกเข้าด้วยกัน
• สูตรฝานมะนาวเป็นแว่นแล้วนำมาถูรักแร้
• สูตรทิ่มเข็มบนจุกก๊อกตามจำนวนดริ๊งที่ดื่ม(ยิ่งแปลกกว่าดื่ม) แต่ควรระวังอาจจะหยิบเข็มผิดๆ ถูกๆ หรือหยิบเข็มได้ก็อาจจะจิ้มพลาดไปถูกเพื่อนข้างๆ เข้า
• สูตรอบไอน้ำ แต่จะต้องไปตรวจสุขภาพก่อนว่าเป็นความดันโลหิตสูงหรือไม่ หรือมีโรคภัยไข้เจ็บอะไร มิฉะนั้นแทนที่จะหายเมาค้าง ท่านอาจะจะพับดับชีพได้เหมือนกัน
• สูตรใช้เปลือกของต้นควินินซึ่งขมปี๋จะช่วยรักษาการเมาค้างได้ นอกจากควินินแล้วพืชที่มีรสขมอื่นๆ ก็มักจะมีคุณสมบัตินี้เช่นกัน เช่น dandelion, gentian, mugwort และ angostura สำหรับ angostura นั้น มีทำเป็นน้ำยาขมเอาไว้ผสมเหล้า เรียกว่า Angostura Bitters เมื่อเกิดเมาค้าง จงเอา Angostura Bitters 2-3 หยดใส่ในน้ำร้อน เติม roselle และมะขามเพื่อปรุงรส ดื่มน้ำชานี้เยอะๆ จะช่วยแก้การเมาค้างได้
• สูตรทานแปะก๊วย นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นเป็นผู้พบว่าเมล็ดแปะก๊วยมีเอนไซม์ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายขจัด แอลกอฮอล์ได้เร็วขึ้น การกินเมล็ดแปะก๊วยจึงช่วยรักษาอาการเมาค้างได้ ในญี่ปุ่นมักจะเสิร์ฟเมล็ดแปะก๊วยในเวลามีปาร์ตี้โดยเชื่อกันว่าจะป้องกันการเมาและเมาค้าง


*******************************************


เอกสารอ้างอิง: จากหนังสือคู่มือการให้การปรึกษาสำหรับผู้ประสบปัญหาแอลกอฮอล์ หน้า 86-91. โดย กรมสุขภาพจิต