1. ศีรษะ ต้องตั้งตรง มั่นคง คางไม่ยื่น ไม่เอียงหรือหมุนไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งท่าทางที่ผิดเพี้ยนเหล่านี้ มักเกิดจากความเคยชินตั้งแต่วัยเด็ก หากตรวจพบเร็วก็ยังสามารถแก้ไขได้ทัน.
2. แขนและไหล่ ควรอยู่ในท่าปล่อยแขนตามสบาย ฝ่ามือหันเข้าหาตัว ไม่เกร็งหรือกางออกมากจนเกินไป ส่วนไหล่ควรอยู่ในระดับเดียวกันและซ้อนกันสนิทพอดีเมื่อมองจากด้านข้าง ไม่เอียงมาข้างหน้าหรือข้างบน จนทำให้ไหล่ห่อมาด้านใดด้านหนึ่ง.
3. หน้าอก ควรยื่นออกมาข้างหน้าและยกขึ้นเล็กน้อย หากตรวจพบว่าหน้าอกยุบแฟบลง แสดงว่าหลังจะงุ้มลงด้วย แก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกายบริหารช่วงทรวงอก และปรับบุคลลิกภาพให้อกผายไหล่ผึ่งเป็นนิสัย แต่ต้องระวังอย่าให้มากจนเกินไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียคือ ทำให้หลังแอ่น ซึ่งนำมาสู่อาการปวดเมื่อยบ่อยๆ แทน.
4. สะโพก เมื่อมองทางด้านหน้า ระดับสะโพกควรตรงกัน และจะซ้อนกันพอดีเมื่อมองจากด้านข้าง ต้องไม่มีการหมุนของสะโพก และไม่มีข้างใดข้างหนึ่งสูงกว่า หากพบว่าผิดปกติให้รีบหาสาเหตุ และแก้ไขทันที.
5. กระดูกสันหลัง เมื่อมองทางด้านข้าง จะต้องเห็นส่วนโค้ง 4 โค้ง ตามธรรมชาติคือ โค้งมาข้างหน้า 2 โค้งที่คอและเอว โค้งไปข้างหลัง 2 โค้งคือ ที่หน้าอกและก้น หากมีส่วนใดโค้งมากกว่าปกติ จะทำให้ร่างกายเสียสมดุล และเป็นต้นเหตุของอาการปวดเมื่อย แก้ไขด้วยการออกกำลังกายตามส่วนที่ผิดปกติ.
6.ข้อเข่าและขา หากตรวจดูด้านข้าง เข่าจะต้องไม่เหยียดตรงเกินไป งอเล็กน้อยประมาณ 5 องศา เมื่อตรวจดูด้านหน้า ขาต้องอยู่ในแนวตรงและลูกสะบ้าหัวเข่าจะอยู่ด้านหน้า ไม่บิดเข้าหรือบิดออก หากพบว่าข้อเข่าชิดเข้าหากันหรือโก่งออกไป ต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว เพราะเป็นความผิดปกติที่เอ็นและกระดูก ซึ่งอาจทำให้ข้อเข่าสึกและเสื่อม จนเสียสภาพได้.
มาส่องกระจกตรวจดูตนเอง ตรวจหาความผิดปกติกันสักนิด ก่อนจะสายเกินแก้.