สธ. เตือน โรคอีสุกอีใส ระบาดฤดูหนาว แนะวิธีสังเกตอาการป่วย
- สธ.เตือน ไข้สุกใสระบาดช่วงฤดูหนาว แต่ละปีพบผู้ป่วย 5-9 หมื่นราย ให้ระวังเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ (กระทรวงสาธารณสุข)
กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังโรคไข้สุกใสระบาดช่วงฤดูหนาว แต่ละปีพบผู้ป่วย 50,000-90,000 ราย มักพบมากตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนมีนาคม เน้นการดูแลป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เผย อาการโรคนี้สังเกตได้ง่าย เริ่มจากไข้สูงปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดและมีตุ่มนูนคันขึ้นที่ไรผมและตามตัว แนะหากป่วยควรพบแพทย์ เพื่อลดโรคแทรกซ้อนอันตราย
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น โรคที่มีความเสี่ยงจะระบาดได้ง่ายก็คือ โรคอีสุกอีใส (CHICKEN POX) หรือไข้สุกใส เกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็นชื้น พบได้ในคนทุกอายุที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค มีโอกาสเกิดความรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้สุกใสย้อนหลัง 10 ปี ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ต่อปีมีผู้ป่วยโรคนี้ 50,000-90,000 ราย และมีแนวโน้มจะพบมากขึ้นพบผู้ป่วยมากตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนมีนาคม โรคนี้มักพบระบาดในที่อยู่ร่วมกัน เช่น โรงเรียน โรงงาน ศูนย์เด็กเล็ก เรือนจำ เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรคไข้สุกใสเป็น 1 ใน 31 โรคที่ต้องรายงานเมื่อพบผู้ป่วย เพื่อแยกผู้ป่วยไม่ให้ไปสัมผัสกับผู้อื่น และเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวอีกว่า ในปี 2556 ทั่วประเทศมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้สุกใส จำนวน 48,299 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี คิดเป็นร้อยละ 25 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 0-4 ปีร้อยละ 23 ส่วนปี 2557 ตั้งแต่ 1-19 มกราคม พบผู้ป่วยแล้ว 2,565 ราย ไม่มีเสียชีวิต ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรค หากมีอาการป่วย ขอให้ไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุข ใกล้บ้านทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตราย และควบคุมโรคไม่แพร่ระบาดยังคนอื่น ๆ อีก
ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้สุกใสเกิดจากเชื้อไวรัส วาริเซลล่า ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด (Herpes Zoster) เชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วย ติดต่อกันโดยการ ไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ เป็นต้น
อาการของเด็กที่ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ส่วนในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวและมีผื่นขึ้นพร้อม ๆ กับวันที่มีไข้ ต่อมาผื่นจะกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใส ๆ อยู่ข้างใน มีอาการคัน และตกสะเก็ด ลักษณะเด่นที่สังเกตได้ง่ายว่าเป็นโรคไข้สุกใสก็คือ ผื่นจะขึ้นที่ไรผมก่อน ต่อมาผื่นจะกระจายไปทั่วตัว บางรายอาจมีตุ่มในปากทำให้ปากลิ้นเปื่อย อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ตุ่ม ทำให้ตุ่มกลายเป็นหนองและทำให้มีรอยแผลเป็น เป็นจุดดำ ๆ ที่ผิวหนัง
โรคนี้เป็นโรคที่หายเองได้ ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ โดยตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อย ๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ โดยไม่มีแผลเป็น เมื่อป่วยจะต้องหยุดเรียน หยุดงานพักผ่อนที่บ้าน และดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารได้ตามปกติ ควรอาบน้ำ และใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกผิวหนังให้สะอาดเพื่อป้องกันติดเชื้อแบคทีเรีย ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่ม ถ้ามีไข้สูงให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้
วิธีการป้องกันโรคไข้สุกใส ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และล้างมือบ่อย ๆ ไม่ดื่มน้ำแก้วเดียวกันหรือใช้หลอดดูดน้ำร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้ที่เคยเป็นแล้วจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติไปตลอดชีวิตไม่ต้องฉีดวัคซีนอีก แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นงูสวัดได้ในภายหลังประมาณร้อยละ 15 หากร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานโรคต่ำเช่น พักผ่อนน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย เนื่องจากจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาทของร่างกาย