ใช้มะเขือเทศสุก 2 ลูก แครอท 2 ลูก บีทรูท ½ หัว เชเลอรี่ 1 ต้น แตงกวา 1 ลูก |
วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557
วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
รู้จักโรคซึมเศร้ากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คำถามต่อไปนี้จะถามถึงประสบการณ์ของท่านในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ท่านสำรวจตัว ท่านเองและประเมินเหตุการณ์ อาการหรือความคิดเห็นและความรู้สึกของท่านว่าอยู่ในระดับใด 1. รู้สึกจิตใจหม่นหมองหรือไม่ (เกือบตลอดทั้งวัน) 2. รู้สึกเป็นทุกข์จนอยากร้องไห้ 3. รู้สึกหมดอาลัยตายอยาก 4. รู้สึกไม่มีความสุข หมดสนุก กับสิ่งที่เคยชอบและเคยทำ 5. รู้สึกผิดหวังในตนเอง และโทษสิ่งที่เกิดขึ้น 6. รู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง 7. รู้สึกอยากอยู่คนเดียวไม่อยากสุงสิงกับใคร 8. รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า 9. คิดอะไรไม่ออก 10. หลงลืมง่าย 11. คิดอะไรได้ช้ากว่าปกติ 12. ทำอะไรอืดอาด เชื่องช้ากว่าปกติ 13. รู้สึกอ่อนเพลียง่ายเหมือนไม่มีแรง 14. รู้สึกเบื่ออาหาร กินได้น้อยกว่าเดิม 15. นอนหลับๆ ตื่นๆ หลับไม่สนิท ถ้าตอบว่า 'มี' ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป หมายถึง มีภาวะซึมเศร้า ควรได้รับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษา โรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนเรา เหมือนกับโรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เกิดได้ทั้งมีสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน จากรายงานการศึกษาของธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้วิจัยออกมาว่า ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจหลอดเลือด เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตามสถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยถือเป็นปัญหาที่เฝ้าจับตามองอันดับ 4 ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก สาเหตุของโรคซึมเศร้า หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติของท่าน ก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ก็มิได้หมายความว่า จะเป็นกันทุกคน ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ มีโอกาสเกิดอาการก็คือ ความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลย์ของอารมณ์ สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่ง ต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเอง และโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่าย เมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น นอกจากนี้ หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้ สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม ทางสภาพจิตใจ ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย มีผู้ที่ฆ่าตัวตายมากถึงร้อยละ 60 ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยคนที่เป็นโรคนี้ เมื่อประสบกับความผิดหวังหรือปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ความรัก หรือการศึกษา ผู้ป่วยจะเกิดความคิดฆ่าตัวตายได้ง่ายกว่าคนปกติถึง 3 เท่า จากการสำรวจประชากรไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ 5 หรือกว่า 3 ล้านคน ยังไม่รวมถึงคนที่ไม่รู้ตัวเองว่าป่วย และโรคนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรมจากพ่อแม่สู่ลูกอีกด้วย โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อ เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการทำงานลดลง ซึ่งโรคนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรมจากพ่อแม่สู่ลูกได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ป่วยจะต้องอยากฆ่าตัวตายเสมอไป ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและปัจจัยกระตุ้นด้วย ลักษณะของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักจะชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ย้ำคิดย้ำทำ เชื่องช้า ซึม เก็บตัว ชอบพูดเปรยว่าถ้าไม่มีเขาอะไรคงจะดี และพูดสั่งเสียอยู่เรื่อยๆ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหนักราว 2-3 เดือน ถือเป็นช่วงอันตรายที่สุด เพราะมีโอกาสคิดสั้นฆ่าตัวตายสูงมาก หากมีเรื่องกระทบจิตใจเพียงนิดเดียว แต่ถ้าพ้นช่วงนี้ไปได้ก็จะกลับสู่ภาวะปกติซึ่งอาการของโรคจะกำเริบเมื่อไรไม่มีใครรู้ล่วงหน้าบางคน 1-2 ปี จึงจะออกอาการ บางคนเพียง 6 เดือนแต่ถ้ารู้ว่าตัวเองป่วยก็สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการเข้าพบจิตแพทย์และกินยาตามที่แพทย์สั่ง โรคซึมเศร้ากับปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น ข้อมูลทั่วไปที่ได้จากการศึกษาวิจัยของกรมสุขภาพจิต ในการศึกษาปัญหาการฆ่าตัวตายในนักเรียนมัธยมปลาย ปี พ.ศ. 2547 จากการวิจัย เรื่องความคิดอยากฆ่าตัวตายของนักเรียนระดับมัธยมปลายและระดับ ปวช.ทั่ว กทม.พบว่ามีเด็กนักเรียน 1 ใน 10 คน มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยเป็นเด็กระดับ ปวช.มากถึงร้อยละ 15.7 มากกว่านักเรียนระดับมัธยมปลายกว่าเท่าตัว ในจำนวนนี้สาเหตุของการฆ่าตัวตายมี 3 ปัจจัยหลัก คือโรคซึมเศร้าเกิดจากกรรมพันธุ์และความเครียดจากสภาพแวดล้อม การโดนทารุณกรรมในวัยเด็ก ซึ่งส่งผลต่อจิตใจและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เด็กกลุ่มนี้จะชอบความท้าทาย กิจกรรมเสี่ยงต่อการเจ็บตัว อารมณ์รุนแรงควบคุมอารมณ์ยาก และการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาเคและสารระเหย จากการสอบถามถึงปัญหาในเชิงลึกกับกลุ่มนักเรียนทั้ง 2 กลุ่มพบว่า กลุ่มนักเรียนอาชีวะมีปัญหาทางบ้านและเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มมัธยม โดยส่วนหนึ่งยอมรับว่า เคยถูกทารุณกรรมในวัยเด็กมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการถูกทุบตีอย่างไม่มีเหตุผล หรือการทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ทั้งนี้ กลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด เพราะมีอัตราการทำร้ายตัวเองสูงอารมณ์รุนแรง ควบคุมไม่ค่อยได้ และมักไม่คำนึงถึงผลที่ตามมาเมื่อลงมือทำไปแล้ว กลุ่มเด็กที่ต้องเฝ้าจับตามองเป็นพิเศษคือเด็กที่มีอาการซึม ชอบเก็บตัว ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร การเรียนตก มีประวัติทำร้ายตัวเองและใช้ยาเสพติด เพราะเด็กที่มีพฤติกรรมเหล่านี้บ่งบอกถึงอาการของโรคซึมเศร้า และมีปัญหาในชีวิต โอกาสที่จะตัดสินใจทำเรื่องรุนแรงต่อร่างกายเป็นไปได้สูงกว่ากลุ่มเด็กที่มีลักษณะปกติ อาจารย์และผู้ปกครองควรเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด จากการสำรวจสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดของวัยรุ่นในสถานศึกษา ปี 2547 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบนักเรียนระดับมัธยมปลายและ ปวช. มีภาวะซึมเศร้าถึงร้อยละ 16.41 หรือราว 1 ใน 6 คนจะมีภาวะซึมเศร้าโดยนักเรียนใน กทม.มีภาวะซึมเศร้าสูงสุดถึงร้อยละ 20.63 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17.28 ภาคใต้ ร้อยละ 15.60 ภาคเหนือ ร้อยละ 15.15 และภาคกลาง ร้อยละ 14.14 ซึ่งมีสาเหตุจากครอบครัวแตกแยก ปัญหาการเงิน และการเรียน โรคซึมเศร้านั้นมักถูกมองข้ามเนื่องจาก 1. ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการทางร่างกาย ทั้งนี้เนื่องจากไม่ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และจิตใจของตนนั้น เป็นอาการของโรค. 3. ผู้ป่วยที่แพทย์พบในแต่ละวันนั้นมักป่วยด้วยโรคทางร่างกาย ดังนั้นการซักถามส่วนใหญ่จึงเน้นถึงอาการด้านร่างกายเป็นหลัก. ทำให้ปัญหาซึมเศร้าของผู้ป่วยบางรายอาจจะได้รับการตอบสนองเพื่อการรักษาตามอากการทางกายที่ปรากฎ เช่น ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดต่างๆ อาทิปวดศรีษะ ปวดหลัง เป็นต้น ความคิดอยากตาย หรือคิดฆ่าตัวตายนั้นพบบ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า. เมื่อศึกษาย้อนหลังในผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จพบว่าเป็นมีปัญหาซึมเศร้าถึงร้อยละ 45-64 ดังนั้นในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกรายต้องถามถึงเรื่องความคิดฆ่าตัวตาย เพื่อประเมินความเสี่ยงซึ่งมีผลต่อการพิจารณาแนวทางในการช่วยเหลือ. การช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตใจเบื้องต้น ผู้ป่วยมักมีแนวคิดในแง่ลบ มองว่าตนเองมีอาการมาก, เป็นโรคที่รักษาไม่หาย หรือไม่มีใครเป็นแบบตน. การบอกอาการและการวินิจฉัยแก่ผู้ป่วยโดยเน้นว่าเป็นปัญหาที่พบได้ไม่น้อย แพทย์ผู้รักษาพบผู้ป่วยในลักษณะนี้อยู่เสมอ ๆ และเป็นโรคที่การรักษาได้ผลดี พบว่ามีส่วนช่วยผู้ป่วยมาก ผู้ป่วยอาจแจ้งอาการทางร่างกายต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ, ใจสั่น, ปวดหลัง, ชา, ร้อนตามตัว ซึ่งแพทย์มักชี้แจงว่าตรวจร่างกายแล้วพบว่าปกติ อาการเหล่านี้เป็นจากผู้ป่วยคิดไปเอง. จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาที่เป็นต้นเหตุของอาการเหล่านี้จริง. พร้อมกันนั้นการมีแนวคิดในแง่ลบ, สนใจร่างกายตนเองมากกว่าปกติของผู้ป่วยทำให้ดูอาการมีมากขึ้น เมื่อโรคซึมเศร้าดีขึ้นอาการทางร่างกายเหล่านี้จะดีขึ้นตาม. ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยแจ้งอาการเหล่านี้ควรรับฟัง แสดงความเข้าใจ และอธิบายว่าเป็นอาการที่มักพบร่วมกับโรค จะดีขึ้นเมื่อรักษา การพบญาติผู้ป่วยมีความสำคัญในสังคมไทย. นอกจากเพื่อประเมินอาการและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว การถามความคิดเห็นของญาติที่มีต่อผู้ป่วยโรค, ชี้แจงแก้ไขความเข้าใจผิด, พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ญาติในการช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญมาก. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาญาติหรือครอบครัว และญาติมักเป็นผู้ที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ในแต่ละครั้ง. การรักษาด้วยยา การรักษาหลักในปัจจุบันได้แก่การใช้ยาแก้เศร้า (antidepressants) โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยมีอาการมากอยู่ การทำจิตบำบัดบางชนิดพบว่าได้ผลในการรักษาพอ ๆ กันกับการใช้ยา โดยเฉพาะในรายที่อาการไม่รุนแรง แต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้เนื่องจากมุ่งเน้นการรักษาที่แพทย์ทั่วไปสามารถนำใช้ได้. การรักษาแบ่งออกเป็นสามระยะตามการดำเนินโรค โดยการรักษาในระยะเฉียบพลันมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอาการของผู้ป่วย การรักษาระยะต่อเนื่องเป็นการคงยาต่อแม้ว่าผู้ป่วยปกติดีแล้วทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดกลับมาป่วยซ้ำ และในผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้การรักษาระยะยาวเพื่อป้องกันการเกิดอาการป่วยซ้ำของโรค. การรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นอาการไม่ได้ดีขึ้นภายในวันสองวัน, ยาบางตัวมีฤทธิ์ข้างเคียงที่ผู้ป่วยทนไม่ได้ อีกทั้งต้องใช้เวลาในการรักษาอยู่หลายเดือน ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งขาดการติดตามการรักษาไป. การให้ข้อมูลและคำแนะนำต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วย โดยเฉพาะเรื่องฤทธิ์ข้างเคียงของยา, ระยะเวลาที่อาการจะดีขึ้น รวมทั้งยาที่ให้นั้นมิใช่ยานอนหลับและไม่มีการติดยา. ยาแก้เศร้าทุกตัวไม่ได้ออกฤทธิ์รักษาอาการซึมเศร้าทันที โดยทั่วไปจะเห็นผลหลังจากได้ยาไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ ในบางรายอาจนานกว่านี้. อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นจากผลด้านอื่น ๆ ของยา เช่น หลับได้ดีขึ้น, เบื่ออาหารลดลง, ความวิตกกังวลลดลง เป็นต้น ยาแก้เศร้าอาจแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่มีโครงสร้างเป็นแบบ tricyclic และยากลุ่มใหม่ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นมาในช่วงไม่นานมานี้. ข้อดีของยาในกลุ่ม tricyclic คือ เป็นยาที่ใช้ในการรักษามานานจนทราบกันดีถึงอาการข้างเคียงของยาแต่ละตัว, ประสิทธิภาพเป็นที่ยืนยันแน่นอน ทั้งในการรักษาระยะเฉียบพลันและการป้องกันระยะยาว, และราคาถูก. ประสิทธิภาพในการรักษาของยาแก้เศร้าแต่ละตัวนั้นไม่ต่างกัน ความแตกต่างอยู่ที่ฤทธิ์ข้างเคียง ซึ่งรวมถึงยาในกลุ่มใหม่ด้วยเช่นกัน ในการเลือกใช้ยาเราพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้ตามลำดับ หากเป็นผู้ป่วยที่เคยป่วยและรักษาหายมาก่อน ประวัติการรักษาเดิมมีความสำคัญ โดยผู้ป่วยมักตอบสนองต่อยาตัวเดิม และขนาดเดิมที่เคยใช้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาขนานเดิมเป็นตัวแรก เกร็ดข้อควรจำกับคำถามที่มักเกิดขึ้นบ่อย ยาที่รักษาอาการซึมเศร้ามักออกฤทธิ์โดยการไปเพิ่มระดับของสาร Serotonin ในสมองโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลของยาชัดเจน ดังนั้นเราจะต้องไม่ใจร้อน ถ้าอาการเศร้าของเรายังไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน ก็จงกินยาต่อตามแพทย์สั่งเมื่อสองสัปดาห์ผ่านไปเราก็จะรู้สึกอาการดีขึ้น เมื่อเริ่มมีอาการดีขึ้นแล้วสิ่งที่ต้องจำไว้ก็คือ จะต้องกินยาต่อเพราะอาการที่เริ่มดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าหายดีแล้วในสัปดาห์ต่อไปที่กินยาอาการของเราจะดีขึ้นอีกความรู้สึกเศร้าจะลดลง จิตใจจะแจ่มใสขึ้น แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเราควรจะปรึกษาแพทย์เพราะอาจจะต้องมีการปรับขนาดของยาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น 1. จะหยุดยาเมื่อไหร่ แพทย์จะเป็นผู้กำหนดว่าเราควรหยุดยาเมื่อไหร่ สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกถึงก็คือ ถ้าเราหยุดยาก่อนเวลาอันควรหรือก่อนที่ระดับ Serotonin ในสมองจะกลับสู่ปกติอาการซึมเศร้าก็อาจกำเริบได้ โดยทั่วไปแพทย์จะให้กินยาต่อประมาณ 4 – 6 เดือน หลังจากที่เริ่มมีอาการดีขึ้นแล้ว ดังนั้นถ้าเราจำเป็นจะต้องหยุดยาก็ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อน โดยทั่วไปไม่มีผลเสียใดๆจากการกินยาเป็นเวลายาวนาน 2. ข้อห้ามของการใช้ยา การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้านั้น จำเป็นต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยมีโรคทางกายอื่นๆ หรือกำลังกินยาชนิดอื่นอยู่ด้วย ดังนั้นเราควรแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลทราบโดยละเอียดว่าเราป่วยเป็นโรคใดและกำลังกินยาชนิดใดอยู่บ้าง 3. ผลข้างเคียงของยา ถ้าเรากินยาตามขนาดและเวลาที่แพทย์สั่ง ก็มักจะไม่พบผลข้างเคียงใดๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจมีความไวต่อยาและเกิดอาการข้างเคียงบางประการในช่วงแรก เช่น อาจมีอาการ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ง่วงนอน หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายในสองสัปดาห์เมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวได้ โดยทั่วไปอาการข้างเคียงมักเป็นไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่ถ้าเราเกิดอาการไม่สบายขึ้นมาอย่างมากเราก็ควรจะปรึกษาแพทย์ 4. ทำอย่างไรจึงจะไม่ลืมกินยา ยาแก้อาการซึมเศร้าจะเกิดผลดีต่อเมื่อกินทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องไม่ลืมกินยา วิธีที่จะช่วยไม่ให้ลืมก็โดยวางยาไว้ในที่ซึ่งเรามองเห็นง่าย ( แต่ต้องระวังอย่าให้เด็กหยิบได้ ) และกินให้เป็นเวลา เช่นทุกวันหลังอาหารเย็น หรือหลังจากแปรงฟัน หรือก่อนเข้านอน เป็นต้น ถ้าเราลืมกินยาตามเวลา ก็ให้กินยาทันทีที่นึกได้ และกินมื้อต่อไปตามกำหนดเดิม แต่ถ้าวันไหนเราลืมกินยาก็ไม่ต้องเพิ่มขนาดในวันต่อไป แต่ให้กินตามขนาดและเวลาเดิม 5. จะมีอาการซึมเศร้าอีกไหม คนบางคนอาจมีอาการซึมเศร้าเพียงหนึ่งหรือสองครั้งในชั่วชีวิตแต่บางคนก็อาจมีอาการหลายครั้ง ผู้ที่มีอาการมาหลายครั้งแล้ว ก็มักจะมีอาการซึมเศร้าครั้งใหม่ในเวลาไม่นานนัก เนื่องจากโรคซึมเศร้ามักมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สัมพันธภาพ การงานและการศึกษาเล่าเรียนมาก แพทย์อาจแนะนำให้เรากินยานานกว่า 6 เดือน เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีอาการกำเริบอีก ดังนั้นเราควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ************************************* ที่มาของข้อมูล: คู่มือโรคซึมเศร้า, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หน้า 35-42
ความเครียดและการบริหารความเครียด ตอนที่ 2 "การฝึกผ่อนคลายความเครียด" กรมสุขภาพจิต การฝึกผ่อนคลายความเครียด วิธีปฏิบัติเพื่อลดความเครียดมีมากมาย หลายคนอาจเคยใช้ เช่น การเล่นดนตรี การฟังเพลง วาดรูป ปลูกต้นไม้ หรือออกกำลังกาย เหล่านี้เป็นวิธีการที่ไม่เจาะจง สามารถเลือกใช้ได้เมื่อเผชิญกับความเครียดไม่รุนแรง ส่วนวิธีที่จะนำเสนอต่อไปนี้ นับเป็นวิธีการเฉพาะในการลดความเครียดในทางวิชาการ ซึ่งสามารถลดความเครียดได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน เมื่อเครียด กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายจะหดเกร็งและจิตใจจะวุ่นวายสับสน ดังนั้น เทคนิคการผ่อนคลายความเครียดส่วนใหญ่จึงเน้นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และการทำจิตใจให้สงบเป็นหลัก ซึ่งวิธีที่จะนำเสนอในที่นี้ จะเป็นวิธีง่ายๆ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง มี 8 วิธีดังนี้ 1. การฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ 2. การฝึกการหายใจ 3. การทำสมาธิเบื้องต้น 4. การใช้เทคนิคความเงียบ 5. การใช้จินตนาการ 6. การทำงานศิลปะ 7. การใช้เสียงเพลง 8. การใช้เทปเสียงคลายเครียดด้วยตัวเอง ขอให้คุณลองอ่านวิธีทั้งหมดอย่างคร่าวๆ ดูก่อน หากชอบวิธีไหนเป็นพิเศษจึงค่อยอ่านโดยละเอียด และนำไปฝึกฝนด้วยความตั้งใจต่อไป ในการฝึกครั้งแรกๆ ใจอาจจะยังคอยพะวงอยู่กับขั้นตอนการฝึกจนรู้สึกว่าความเครียดยังไม่ได้รับการผ่อนคลายออกไปเท่าที่ควร แต่เมื่อฝึกหลายครั้งจนเกิดความชำนาญ จะช่วยคลายเครียดได้เป็นอย่างดี สำหรับการฝึกคลายเครียดนั้น เมื่อเริ่มฝึกควรฝึกบ่อยๆ วันละ 2-3 ครั้ง และควรฝึกทุกวัน ต่อเมื่อฝึกจนชำนาญแล้วจึงลดลงเหลือเพียงวันละ 1 ครั้งก็พอ หรืออาจฝึกเฉพาะเมื่อรู้สึกเครียดเท่านั้นก็ได้ แต่อยากแนะนำให้ฝึกทุกวัน โดยเฉพาะก่อนนอนจะช่วยให้จิตใจสงบ และนอนหลับสบายขึ้น 1. การฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่ควรฝึกมี 10 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. แขนขวา 2. แขนซ้าย 3. หน้าผาก 4. ตา แก้มและจมูก 5. ขากรรไกร ริมฝีปากและลิ้น 6. คอ 7. อก หลัง และไหล่ 8. หน้าท้อง และก้น 9. ขาขวา 10. ขาซ้าย วิธีการฝึกมีดังนี้ - นั่งในท่าสบาย - เกร็งกล้ามเนื้อไปทีละกลุ่ม ค้างไว้สัก 10 วินาที แล้วคลายออก จากนั้นก็เกร็งใหม่สลับกันไปประมาณ 10 ครั้ง ค่อยๆ ทำไปจนครบทั้ง 10 กลุ่ม - เริ่มจากการกำมือ และเกร็งแขนทั้งซ้ายขวาแล้วปล่อย - บริเวณหน้าผาก ใช้วิธีเลิกคิ้วให้สูง หรือขมวดคิ้วจนชิดแล้วคลาย - ตา แก้ม และจมูก ใช้วิธีหลับตาปี๋ ย่นจมูกแล้วคลาย - ขากรรไกร ริมฝีปากและลิ้น ใช้วิธีกัดฟัน เม้มปากแน่นและใช้ลิ้นดันเพดานโดยหุบปากไว้แล้วคลาย - คอ โดยการก้มหน้าให้คางจรดคอ เงยหน้าให้มากที่สุดแล้วกลับสู่ท่าปกติ - อก หลัง และไหล่ โดยหายใจเข้าลึกๆ แล้วเกร็งไว้ ยกไหล่ให้สูงที่สุดแล้วคลาย - หน้าท้องและก้น ใช้วิธีแขม่วท้อง ขมิบกันแล้วคลาย - งอนิ้วเท้าเข้าหากัน กระดกปลายเท้าขึ้นสูง เกร็งขาซ้ายและขวาแล้วปล่อย การฝึกเช่นนี้จะทำให้รับรู้ถึงความเครียดจากการเกร็งกล้ามเนื้อกลุ่มต่างๆ และรู้สึกสบายเมื่อคลายกล้ามเนื้อออกแล้ว ดังนั้น ครั้งต่อไปเมื่อเครียดและกล้ามเนื้อเกร็งจะได้รู้ตัว และรีบผ่อนคลายโดยเร็ว ก็จะช่วยได้มาก 2. การฝึกการหายใจ ฝึกการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลมบริเวณหน้าท้องแทนการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าอก เมื่อหายใจเข้า หน้าท้องจะพองออก และเมื่อหายใจออก หน้าท้องจะยุบลง ซึ่งจะรู้ได้โดยเอามือวางไว้ที่หน้าท้องแล้วคอยสังเกตเวลาหายใจเข้าและหายใจออก หายใจเข้าลึกๆ และช้าๆ กลั้นไว้ชั่วครู่แล้วจึงหายใจออก ลองฝึกเป็นประจำทุกวัน จนสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ การหายใจแบบนี้จะช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ทำให้สมองแจ่มใส ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงเหงาหาวนอน พร้อมเสมอสำหรับภารกิจต่างๆ ในแต่ละวัน 3. การทำสมาธิเบื้องต้น เลือกสถานที่ที่เงียบสงบ ไม่มีใครรบกวน เช่น ห้องพระ ห้องนอน ห้องทำงานที่ไม่มีคนพลุกพล่าน หรือมุมสงบในบ้าน นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือชนกันหรือมือขวาทับมือซ้ายตั้งตัวตรง หรือจะนั่งพับเพียบก็ได้ตามแต่จะถนัด กำหนดลมหายใจเข้าออก โดยสังเกตลมที่มากระทบปลายจมูก หรือริมฝีปากบน ให้รู้ว่าขณะนั้นหายใจเข้าหรือออก หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1 นับไปเรื่อยๆ จนถึง 5 เริ่มนับใหม่จาก 1-6 แล้วพอ กลับมานับใหม่จาก 1-7 แล้วพอ กลับมานับใหม่จาก 1-8 แล้วพอ กลับมานับใหม่จาก 1-9 แล้วพอ กลับมานับใหม่จาก 1-10 แล้วพอ ย้อนกลับมาเริ่ม 1-5 ใหม่ วนไปเรื่อยๆ ขอเพียงจิตใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกเท่านั้น อย่าคิดฟุ้งซ่านเรื่องอื่น เมื่อจิตใจแน่วแน่จะช่วยขจัดความเครียด ความวิตกกังวล ความเศร้าหมอง เกิดปัญญาที่จะคิดแก้ไขปัญหาและเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตได้อย่างมีสติ มีเหตุมีผล และยังช่วยให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นด้วย 4. การใช้เทคนิคความเงียบ การจะสยบความวุ่นวายของจิตใจที่ได้ผล คงต้องอาศัยความเงียบเข้าช่วย โดยมีวิธีการดังนี้ - เลือกสถานที่ที่สงบเงียบ มีความเป็นส่วนตัว และควรบอกผู้ใกล้ชิดว่าอย่าเพิ่งรบกวนสัก 15 นาที - เลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น หลังตื่นนอน เวลาพักกลางวัน ก่อนเข้านอน ฯลฯ -นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย ถ้านั่งควรเลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิงศีรษะอย่าไขว่ห้างหรือกอดอก - หลับตา เพื่อตัดสิ่งรบกวนจากภายนอก - หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ - ทำใจให้เป็นสมาธิ โดยท่องคาถาบทสั้นๆ ซ้ำไปซ้ำมา เช่น พุทโธ พุทโธ หรือจะสวดมนต์บทยาวๆ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เช่น สวดพระคาถาชินบัญชร 3-5 จบ เป็นต้น ฝึกครั้งละ 10-15 นาที ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง แรกๆ ให้เอานาฬิกามาวางตรงหน้า และลืมตาดูเวลาเป็นระยะๆ เมื่อฝึกบ่อยเข้าจะกะเวลาได้อย่างแม่นยำ ไม่ควรใช้นาฬิกาปลุก เพราะเสียงจากนาฬิกาจะทำให้ตกใจเสียสมาธิ และรู้สึกหงุดหงิดแทนที่จะสงบ *******************************************
วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557
"อาการของผู้หญิงวัยทอง" ภาวะวัยทอง เป็นสิ่งที่ผู้หญิงอายุเกินกว่า 40 ปีขึ้นไปจะต้องเผชิญ อาการในภาวะดังกล่าวมีความรุนแรงแตกต่างกันแล้วแต่บุคคล อย่างไรก็ตาม หากต้องการจะตรวจสอบว่ามีอาการของภาวะวัยทองให้พิจารณาจากอาการหรือปัญหาผิดปกติ ดังต่อไปนี้คือ 1. อาการร้อนวูบวาบตามตัว เป็นอาการเริ่มแรกของผู้หญิงวัยทองโดยทั่วไป มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นและก่อให้เกิดความรำคาญมากน้อยแตกต่างกันตามบุคคล 2. การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปแล้ว นอกจากนี้ยังอาจเกิดการอักเสบของช่องคลอดที่ก่อให้เกิดความรำคาญได้เช่นกัน 3. ปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกเจ็บปวดเวลาร่วมเพศสืบเนื่องมาจากการที่น้ำหล่อลื่นลดน้อยลงและการลดลงของความต้องการทางเพศมักพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทอง 4. อารมณ์หงุดหงิดและแปรปรวนได้ง่ายจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในผู้หญิงวัยทองบางคน 5. ประจำเดือนผิดปกติและบางครั้งมีเลือดออกมามากจะพบได้ในช่วงระยะที่ใกล้จะหมดประจำเดือน 6. ความจำเสื่อมลงหลงลืมได้ง่ายเป็นสิ่งที่พบได้ไม่น้อยเช่นกัน 7. ความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงหลายชนิด ได้แก่ กระดูกพรุน โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์และมะเร็งของลำไส้ใหญ่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้หญิงย่างเข้าสู่วัยทอง ในปัจจุบันมีสารจากธรรมชาติหลากหลายชนิดที่อาจพิจารณาให้ใช้เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นในผู้หญิงวัยทองได้ สารสกัดจากถั่วเหลืองซึ่งให้สารสำคัญในกลุ่ม Isoflavones มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการวัยทองต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีผลป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง และยังมีผลลดระดับคอเลสเตอรอลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้เสมอ
วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557
"อาหาร ๑๐ หมู่ที่ควรเลี่ยง"
เคล็ดลับการดูแลสุขภาพตามศาสตร์แพทย์แผนจีนอาหาร 10 อย่างที่ไม่ควรกินมากเกิน
บรรดาอาหารสารพัดชนิดที่มีให้หาซื้อกันได้อย่างเสรีนั้น มีคุณประโยชน์แตกต่างกัน อีกทั้งปริมาณที่กินเข้าไปด้วย นั่นคือ ไม่มากเกิน ไม่น้อยเกิน แต่ควรกินอยู่ด้วยความพอดี ยึดทางสายกลางเป็นหลัก
เคล็ดลับการดูแลสุขภาพตามศาสตร์แพทย์จีน ว่าด้วยเรื่องอาหารการกิน 10 อย่าง ที่ไม่ควรกินมากเกิน มีดังนี้
1. ไข่เยี่ยวม้า ไข่เยี่ยวม้ามีส่วนประกอบของตะกั่วการกินไข่เยี่ยวม้าปริมาณมากๆ และบ่อยๆ อาจเกิดพิษจากสารตะกั่ว นอกจากนั้นยังทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดน้อยลง เกิดภาวะขาดแคลเซียม ทำให้กระดูกผุได้
2. ปาท่องโก๋ กระบวนการทำปาท่องโก๋มีการใช้สารส้มเป็นส่วน ประกอบ และในสารส้มมีส่วนประกอบของตะกั่วการกินปาท่องโก๋ทุกวันจะทำให้ไตทำงานหนักในการขับสารตะกั่ว ซึ่งเป็นพิษต่อสมองและเซลล์ประสาท ทำให้เสื่อมเร็ว เป็นโรคความจำเสื่อมนอกจากนี้ย้งทำให้คอแห้ง เจ็บคอโดยเฉพาะคนที่ร้อนในง่าย
3. เนื้อย่าง ประเภทต่างๆเนื้อที่ถูกรม ย่างไฟ จะเกิดสารเบนโซไพริน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง
4. ผักดอง การกินผักดอง หรือของหมักเกลือนานๆ จะเกิดการสะสมของเกลือโซเดียม ทำให้หัวใจทำงานหนัก เกิดโรคความดันเลือดสูง และโรคหัวใจได้ง่ายนอกจากของหมักดองยังมีสารก่อมะเร็ง แอมโมเนียมไนไตรต์
5. ตับหมู ตับหมู 1 กิโลกรัม มีโคเลสเตอรอลมากกว่า 400 มิลลิกรัม การกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลปริมาณสูงมากๆ นานๆ จะทำ ให้หลอดเลือดแข็งตัว มีความเสี่ยง ต่อโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดทางสมอง รวมถึงโรคมะเร็งด้วย
6. ผักขม, ผักปวยเล้ง ผักขม, ผักปวยเล้งมีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่มีกรดออกซาเลตมาก จะทำให้มีการขับสังกะสีและแคลเซียมออกจากร่างกายมาก เกิดภาวะขาดแคลนแคลเซียมและสังกะสี
7. บะหมี่สำเร็จรูป บะหมี่สำเร็จรูปหลายชนิดมีสารกันบูด สารปรุงแต่งรสที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายการกินบะหมี่สำเร็จรูปบ่อยๆ จะทำให้ขาดสารอาหารและเกิดการสะสมสารพิษในร่างกาย
8. เมล็ดทานตะวัน เมล็ดทานตะวันมีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัว การกินเมล็ดทานตะวันปริมาณมาก จะทำให้ระบบเมตาบอลิซึมของไขมันผิดปกติ ทำให้มีการสะสมไขมันที่ตับได้ เป็นอันตรายต่ออวัยวะตับ
9. เต้าหู้หมัก, เต้าหู้ยี้ กระบวนการหมักเต้าหู้ มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่ายนอกจากนี้ ยังมีสารย่อยสลายโปรตีน ไฮโดรเจนซัลไฟล์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย
10. ผงชูรส คนเราไม่ควรกินผงชูรสเกินกว่า 6 กรัมต่อวัน จะทำให้กรดกลูตามิกในเลือดสูง ซึ่งมีผลต่อการทำงานของ ประจุแคลเซียมและแมกนีเซียม เกิดอาการปวดศีรษะ ใจสั่น คลื่นไส้ นอกจากนี้ มีผลเสียต่ออวัยวะสืบพันธุ์ด้วย
ที่กล่าวมาเป็นภูมิปัญญาโบราณ ความเชื่อที่สืบทอดปฏิบัติกันมา ปัจจุบันมีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายมากขึ้น i
วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
เคล็ดลับสกัดอ้วน
ความอ้วนเป็นบ่อเกิดของสารพัดโรค แต่การเข้มงวดกับการลดน้ำหนักมากเกินไปหรือการอดอาหารจะทำให้คุณลดน้ำหนักได้แค่ในระยะสั้นๆ และเกิดโยโย่หรือน้ำหนักดีดกลับขึ้นมาเหมือนเดิม มาเริ่มต้นใหม่ด้วยการลดน้ำหนักอย่างมีสุขภาพดี ด้วยการปรับพฤติกรรมการกินให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เป็นไปตลอดในระยะยาว ตามคำแนะนำต่อไปนี้ ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถลดน้ำหนักลงได้เรื่อยๆ แบบไม่มีโยโย่และไม่เครียด
- ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน คุณต้องกินอะไรบ้าง ถ้าไม่ค่อยหิว จะกินเป็นผลไม้ไม่หวานจัด อย่างแอปเปิลสักลูก หรือซีเรียลใส่นมไขมันต่ำสักแก้วก็ยังดี แนะนำให้เลือก
ซีเรียลแบบโฮลเกรน เพราะจะช่วยให้อิ่มนาน ไม่อยากกินจุบจิบก่อนถึงมื้อเที่ยง - ไม่ปล่อยให้หิวจัด การอดอาหารมาทั้งวันเพื่อรวบยอดมื้อเย็นทีเดียว มีแนวโน้มที่จะกินอาหารอ้วนๆ มากขึ้น
- เตรียมของว่างที่กินแล้วไม่อ้วนติดมาที่ทำงานด้วย จะได้ไม่ตบะแตก กินทุกอย่างที่ขวางหน้า
- กินตามสูตร 2 1 1 โดยอาหารจานหนึ่งควรมีผักครึ่งจาน จะเป็นสลัดผัก ผัดผัก หรือผักสดก็ได้ และที่เหลือแบ่งเป็นข้าวแป้งกับเนื้อสัตว์ไขมันต่ำอย่างละครึ่ง
- เปลี่ยนชนิดคาร์โบไฮเดรตจากข้าวขาว ขนมปังขาว มาเป็นข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีท ใยอาหารที่มากขึ้นจะช่วยให้คุณอิ่มนานขึ้น
- หากเป็นคนชอบกินแป้ง ลองหาตัวช่วยคือกาแฟหรือโกโก้ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากถั่วขาว ซึ่งมีงานวิจัยพบว่ามีสาร phaseolamine ซึ่งจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะไมเลส และขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลบางส่วน
- กินอาหารคำเล็กๆ เคี้ยวช้าๆ และวางช้อนทุกครั้ง จะช่วยให้กินช้าลงและอิ่มเร็วขึ้น
- อย่าดื่มน้ำหวานหรือน้ำอัดลมระหว่างกินอาหาร ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณความอิ่มไปให้สมองรับรู้จะถูกรบกวนด้วยน้ำตาลฟรุกโตส ทำให้สมองไม่สามารถรับสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าใครอยากรู้สึกอิ่มเร็วควรหันมาดื่มน้ำเปล่า
- กินโปรตีนให้เพียงพอ เพราะการลดน้ำหนักโดยการกินโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้น้ำหนักที่ลดลงเป็นกล้ามเนื้อร่วมกับไขมัน และร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลียกว่าปกติ ควรเลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมันให้เป็นนิสัย เช่น เนื้อปลาและเนื้อไก่ไม่ติดหนัง เน้นแบบที่ปรุงด้วยการนึ่ง ต้ม อบ ย่าง
- หลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารทอด เลือกประเภทนึ่ง อบ ยำ ย่าง ผัดน้ำมันน้อยๆ หรือถ้าเป็นแกงก็ควรเลือกเป็นแกงที่ไม่ใส่กะทิ เช่น แกงส้ม แกงป่า ก็จะช่วยลดพลังงานอาหารในแต่ละมื้อลงได้
- ลดปริมาณเครื่องปรุง เครื่องจิ้มลง แค่คุณกินผลไม้โดยไม่จิ้มน้ำจิ้ม หรือลดปริมาณน้ำสลัดหรือไม่ปรุงอาหารเพิ่ม แคลอรีที่ได้รับก็จะลดลงไปอย่างที่คุณนึกไม่ถึง
- หลังกินอย่าเพิ่งนอน หลังมื้ออาหารควรทิ้งระยะเวลาก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง เพราะการนอนหลับในระหว่างที่กระบวนการย่อยอาหารยังไม่เสร็จสิ้น จะทำให้ระบบการเผาผลาญช้าลง
- นอนให้พอ วันละ 7-8 ชั่วโมง ไม่นอนดึก การนอนดึกจะทำให้ร่างกายลดการสร้างฮอร์โมนในช่วงกลางคืน โดยเฉพาะฮอร์โมนที่ช่วยในการควบคุมน้ำหนักและเร่งการเผาผลาญพลังงาน
- ทำตัวให้แอคทีฟ ไม่นั่งอยู่กับที่นานๆ ให้ลุกขึ้นเดินทุกชั่วโมง อาจแต่งตัวสไตล์สปอร์ตในวันหยุด เพราะจะช่วยกระตุ้นให้อยากออกกำลังกายมากขึ้น
Cr : Nestle good food good life
วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557
ออกกำลังกาย ทำได้ทุกที่ทุกเวลา
คุณคงเคยเห็นหรือแอบอิจฉาเล็กๆ เมื่อเห็นคนที่รูปร่างดีและดูอ่อนกว่าอายุจริง และก็คงเคยเห็นคนที่รูปร่างหน้าตาวิ่งล้ำหน้าเกินอายุจริงไปไกล อย่างนี้เค้าเรียกว่า อายุร่างกายไม่เท่ากับอายุจริง ซึ่งคนในวัยเดียวกันอาจมีอายุร่างกายไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออายุร่างกายของเราก็คืออาหารการกินและการออกกำลังกาย คุณอาจนึกบ่นในใจว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่เชื่อมั้ยคะว่าคุณสามารถออกกำลังกายได้ทุกที่ ทุกเวลา
ในที่ทำงาน- ขณะรอเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเริ่มงานทุกเช้า ให้นั่งเก้าอี้แล้วลุกนั่งไปเรื่อยๆ จนกว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์จะพร้อมสำหรับการทำงาน
- ขณะนั่งทำงาน คุณสามารถบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วยการนั่งหลังตรง แขม่วท้อง โดยการหายใจเข้าและแขม่วท้องให้ได้มากที่สุด จากนั้นค่อยๆ นับ 1- 10 เมื่อครบให้
ผ่อนลมหายใจออก - ถ้าใช้เก้าอี้ที่มีล้อ ให้นั่งเก้าอี้แล้วยืดมือออกไปจับขอบโต๊ะ จากนั้นใช้กล้ามเนื้อแขนดึงตัวเองเข้าไปใกล้โต๊ะ แล้วผลักตัวเองออกห่าง ทั้งสนุกและช่วยให้ต้นแขนกระชับ
- หากรู้สึกล้า ให้ลุกเดินไปเดินมา คุยกับคนโน้นคนนี้ หรือจะเดินขึ้นลงบันไดให้เหงื่อซึม ออกซิเจนส่งไปเลี้ยงสมองมากขึ้น เพียงครั้งละ 10 นาที 3 เวลา ก็จะเท่ากับคุณได้ออกกำลังวันละ 30 นาทีแล้วค่ะ
- ไม่ว่าจะกำลังยืนอยู่บนรถไฟฟ้าหรือยืนรอรถเมล์ ให้ยืนแขม่วท้อง เช่นเดียวกับการนั่ง
แขม่วท้อง - เพิ่มพลังนิ้วขณะนั่งรถ โดยการวางมือทั้ง 2 ข้างบนเข่าซ้ายขวา จากนั้นออกแรงใช้นิ้วบีบเข่าให้แน่นแล้วคลายสลับกัน ท่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อแขนและข้อมือแข็งแรงขึ้นและช่วยเพิ่มพลังให้กล้ามเนื้อนิ้วมือ
- บริหารเท้าขณะนั่งรถ โดยใช้ปลายเท้าแตะพื้น ยกส้นเท้าขึ้นแล้วออกแรงกดไปที่ปลายเท้า ค้างไว้สักครู่ จากนั้นลดส้นเท้าลง ยกปลายเท้าขึ้นแล้วออกแรงกดไปที่ส้นเท้า ทำสลับกันเช่นนี้ ท่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อน่องและข้อเท้าแข็งแรง
- ขณะกวาดบ้านหรือใช้เครื่องดูดฝุ่น ให้เดินด้วยปลายเท้าโดยทรงตัวบนนิ้วเท้าทั้งห้า ห้ามให้ส้นเท้าแตะพื้น การเดินแบบนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อแข้งและน่องแข็งแรงขึ้น
- ขณะคุยโทรศัพท์ ไม่ว่ากับแฟนหรือเพื่อนซึ่งใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าชั่วโมง อย่านอนคุยหรือนั่งคุยเฉยๆ ให้ลุกเดินไปเดินมา กว่าจะคุยเสร็จรับรองว่าเดินได้หลายร้อยก้าว หรือจะเดินกลับไปกลับมาด้วยปลายเท้า จะช่วยให้กล้ามเนื้อร่างกายส่วนล่างแข็งแรงขึ้น
- ขณะนั่งดูทีวี กระชับหุ่นสวยด้วยท่าเก้าอี้กำแพง เริ่มต้นจากยืนตรง หลังพิงกำแพง กางขาให้กว้างประมาณหัวไหล่ ให้ขาทั้งสองข้าง ห่างจากกำแพงประมาณ 1-1.5 ก้าว จากนั้นหายใจเข้า งอเข่าพร้อมๆ กับย่อตัวลงมาให้ต้นขาขนานกับพื้น พยายามไม่ให้หัวเข่าเลยปลายเท้าเพราะจะทำให้ปวดเข่า ค้างไว้ 10-30 วินาที แล้วกลับสู่ท่าเริ่มต้น หรือจะประมาณเอาจากความยาวโฆษณาหนึ่งตัว
- ขณะยืนรีดผ้า ยืนแต่งตัว หรือยืนแปรงฟัน ให้ยืนด้วยปลายเท้าโดยยกส้นเท้าขึ้นแล้วทิ้งน้ำหนักตัวลงบนปลายเท้า ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อแข้งและน่อง และฝึกสร้างความสมดุลให้
ร่างกาย - ขณะขึ้นลงบันได ให้เดินขึ้นบันไดด้วยปลายเท้าแล้วลงบันไดด้วยส้นเท้า ท่านี้ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อร่างกายส่วนล่าง ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น อย่าลืมจับราวบันไดเพื่อความปลอดภัยด้วยนะคะ
- ขณะดูทีวี ให้ยกขาเหวี่ยงแขนไปพร้อม ๆ กับชมรายการโปรด หรือจะยกดัมเบล ปั่นจักรยานชนิดอยู่กับที่ หรือเล่นฮูล่าฮูป
- ลองจัดสรรเวลามาลุกขึ้นเต้นสักวันละ 20 นาที เปิดเพลงเร็วๆ สนุกๆ ที่ฟังแล้วอยากขยับแข้งขยับขา แล้วยักย้ายส่ายเอว ส่ายสะโพก หรือกระโดดโลดเต้น ไม่ต้องสนใจว่าจะเข้าจังหวะหรือไม่
การใช้กล้ามเนื้อมากๆ ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอด้วยนะคะ เพราะในกล้ามประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ หากดื่มน้ำน้อยกล้ามเนื้อก็จะล้าง่ายและไม่ยืดหยุ่น เพราะขาดน้ำ และยังอาจทำให้เกิดตะคริวอีกด้วยค่ะ
จากตัวอย่างข้างต้น คงเห็นแล้วว่าการออกกำลังกายสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาจริงๆ และอย่าลืมดูแลเรื่องอาหารการกิน ควบคู่ไปด้วยนะคะ รับรองว่าอายุร่างกายจะลดลงจนใครๆ ทักว่าดูอ่อนกว่าวัยเลยล่ะค่ะ
จากตัวอย่างข้างต้น คงเห็นแล้วว่าการออกกำลังกายสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาจริงๆ และอย่าลืมดูแลเรื่องอาหารการกิน ควบคู่ไปด้วยนะคะ รับรองว่าอายุร่างกายจะลดลงจนใครๆ ทักว่าดูอ่อนกว่าวัยเลยล่ะค่ะ
ขอขอบคุณบทความสุขภาพจาก : Nestle good food good life
วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557
อาหารว่างสร้างสุขภาพ
อาหารว่างช่วยบรรเทาความหิว และยังช่วยเติมเต็มคุณค่าสารอาหาร เติมเต็มความสุข และเติมเต็มพลังงานระหว่างรอมื้ออาหารหลักอีกด้วย แต่หากเลือกอาหารว่างไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้สุขภาพแย่โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องเข้าประชุมหรือฝึกอบรมเป็นประจำ มักจะกินอาหารว่างจำพวกเบเกอรี น้ำหวาน ที่ให้พลังงาน น้ำตาล และไขมันสูง หรือบางคนมีขนมนมเนยให้หยิบเข้าปากทั้งวัน แบบนี้ภาวะอ้วนลงพุงคงมาเยือนในไม่ช้า อย่ากระนั้นเลย เรามาเลือกอาหารว่างที่ดีให้ร่างกายกันเถอะค่ะ
อาหารว่างที่ดีควรให้พลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน หรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรีสำหรับผู้ใหญ่ และ 100-150 กิโลแคลอรีสำหรับเด็ก นอกจากนี้ยังไม่ควรมีน้ำมัน น้ำตาล เกลือมากเกินไป ตัวอย่างเช่น
- นมและโยเกิร์ต มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายโดยเฉพาะแคลเซียมซึ่งมีความจำเป็นสำหรับทุกวัย ควรเลือกชนิดจืดหรือมีน้ำตาลและไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงนมเปรี้ยว เพราะมีนมเป็นส่วนประกอบไม่เกินร้อยละ 50 และส่วนใหญ่จะมีน้ำตาลสูง
- ผลไม้สด เลือกที่หวานน้อย เช่น ฝรั่ง ส้ม กล้วย แอปเปิล แคนตาลูป แตงโม ส้มโอ สับปะรด มะละกอ ถ้าจะดื่มน้ำผลไม้ ควรเลือกน้ำผลไม้สดแบบไม่เติมน้ำตาล ดื่มวันละไม่เกิน 1 แก้ว หรือ 1 กล่องเล็ก
- ไอศกรีม เลือกประเภทที่ให้พลังงานน้อย มีไขมันต่ำ มีความหวานพอดี และใช้สีธรรมชาติ อาจเลือกไอศกรีมโยเกิร์ตหรือหวานเย็น
- เบเกอรี เลือกที่ไม่หวานและมันจัด และมีส่วนผสมที่มีประโยชน์คือเนื้อสัตว์และผัก เช่น ขนมจีบ ซาลาเปา แซนด์วิชไส้ทูน่า ขนมปังไส้ไก่ ขนมปังโฮลวีท หรือเลือกขนมปังกรอบที่มีใยอาหารสูง หลีกเลี่ยงเค้กหน้าครีมเพราะให้พลังงานและไขมันสูง
- ขนมไทย ควรเลือกชนิดที่มีน้ำมันหรือกะทิน้อย ไม่หวานจัด และมีส่วนผสมที่มีประโยชน์ เช่น มีถั่ว ธัญพืช ผลไม้ หรือไข่เป็นส่วนผสมอย่างถั่วแปบ ถั่วกวน ข้าวต้มมัด ลูกชุบ ขนมตาล ขนมกล้วย เม็ดขนุน ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าส่วน กล้วยต้มคลุกมะพร้าว
- ถั่วและธัญพืช ต้มหรืออบ เช่น ถั่วต้ม ถั่วแระญี่ปุ่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม ข้าวโพดต้ม มันต้ม เผือกต้ม
- เนื้อสัตว์ เลือกที่มีไขมันต่ำ เช่น หมูสะเต๊ะ ลูกชิ้นลวกหรือปิ้ง
- เครื่องดื่ม ควรดื่มไม่เกิน 1 แก้วเล็กต่อวัน เลือกที่ไม่หวานจัดและให้พลังงานต่ำ อาจเลือกเครื่องดื่มที่มีการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อไม่ให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไป เช่น ชามะนาว เครื่องดื่มธัญญาหารชนิดน้ำตาลน้อย สำหรับเด็กๆ แนะนำให้เลือกเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม เช่น เครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
- น้ำผลไม้ปั่น หรือสมูทตี้ ไม่ควรมีรสหวานจัด และกินในปริมาณพอเหมาะ
- ขนมถุง หลีกเลี่ยงประเภทที่มีแต่แป้งและไขมัน เช่น มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ ควรกินแต่น้อยไม่เกิน 1 ถุงเล็กและไม่ควรกินบ่อย หรือเลือกขนมที่ใช้วิธีการอบแทนขนมแบบทอด แต่อย่าลืมอ่านฉลากหวาน มัน เค็มหน้าถุงด้วยนะคะเพื่อเลือกที่มีพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมไม่สูงจนเกินไป
วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
สธ. เตือน โรคอีสุกอีใส ระบาดฤดูหนาว แนะวิธีสังเกตอาการป่วย
สธ. เตือน โรคอีสุกอีใส ระบาดฤดูหนาว แนะวิธีสังเกตอาการป่วย
- สธ.เตือน ไข้สุกใสระบาดช่วงฤดูหนาว แต่ละปีพบผู้ป่วย 5-9 หมื่นราย ให้ระวังเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ (กระทรวงสาธารณสุข)
กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังโรคไข้สุกใสระบาดช่วงฤดูหนาว แต่ละปีพบผู้ป่วย 50,000-90,000 ราย มักพบมากตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนมีนาคม เน้นการดูแลป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เผย อาการโรคนี้สังเกตได้ง่าย เริ่มจากไข้สูงปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดและมีตุ่มนูนคันขึ้นที่ไรผมและตามตัว แนะหากป่วยควรพบแพทย์ เพื่อลดโรคแทรกซ้อนอันตราย
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น โรคที่มีความเสี่ยงจะระบาดได้ง่ายก็คือ โรคอีสุกอีใส (CHICKEN POX) หรือไข้สุกใส เกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็นชื้น พบได้ในคนทุกอายุที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค มีโอกาสเกิดความรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้สุกใสย้อนหลัง 10 ปี ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ต่อปีมีผู้ป่วยโรคนี้ 50,000-90,000 ราย และมีแนวโน้มจะพบมากขึ้นพบผู้ป่วยมากตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนมีนาคม โรคนี้มักพบระบาดในที่อยู่ร่วมกัน เช่น โรงเรียน โรงงาน ศูนย์เด็กเล็ก เรือนจำ เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรคไข้สุกใสเป็น 1 ใน 31 โรคที่ต้องรายงานเมื่อพบผู้ป่วย เพื่อแยกผู้ป่วยไม่ให้ไปสัมผัสกับผู้อื่น และเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวอีกว่า ในปี 2556 ทั่วประเทศมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้สุกใส จำนวน 48,299 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี คิดเป็นร้อยละ 25 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 0-4 ปีร้อยละ 23 ส่วนปี 2557 ตั้งแต่ 1-19 มกราคม พบผู้ป่วยแล้ว 2,565 ราย ไม่มีเสียชีวิต ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรค หากมีอาการป่วย ขอให้ไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุข ใกล้บ้านทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตราย และควบคุมโรคไม่แพร่ระบาดยังคนอื่น ๆ อีก
ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้สุกใสเกิดจากเชื้อไวรัส วาริเซลล่า ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด (Herpes Zoster) เชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วย ติดต่อกันโดยการ ไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ เป็นต้น
อาการของเด็กที่ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ส่วนในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวและมีผื่นขึ้นพร้อม ๆ กับวันที่มีไข้ ต่อมาผื่นจะกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใส ๆ อยู่ข้างใน มีอาการคัน และตกสะเก็ด ลักษณะเด่นที่สังเกตได้ง่ายว่าเป็นโรคไข้สุกใสก็คือ ผื่นจะขึ้นที่ไรผมก่อน ต่อมาผื่นจะกระจายไปทั่วตัว บางรายอาจมีตุ่มในปากทำให้ปากลิ้นเปื่อย อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ตุ่ม ทำให้ตุ่มกลายเป็นหนองและทำให้มีรอยแผลเป็น เป็นจุดดำ ๆ ที่ผิวหนัง
โรคนี้เป็นโรคที่หายเองได้ ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ โดยตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อย ๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ โดยไม่มีแผลเป็น เมื่อป่วยจะต้องหยุดเรียน หยุดงานพักผ่อนที่บ้าน และดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารได้ตามปกติ ควรอาบน้ำ และใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกผิวหนังให้สะอาดเพื่อป้องกันติดเชื้อแบคทีเรีย ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่ม ถ้ามีไข้สูงให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้
วิธีการป้องกันโรคไข้สุกใส ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และล้างมือบ่อย ๆ ไม่ดื่มน้ำแก้วเดียวกันหรือใช้หลอดดูดน้ำร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้ที่เคยเป็นแล้วจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติไปตลอดชีวิตไม่ต้องฉีดวัคซีนอีก แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นงูสวัดได้ในภายหลังประมาณร้อยละ 15 หากร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานโรคต่ำเช่น พักผ่อนน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย เนื่องจากจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาทของร่างกาย
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)